แน่นอนช่วงหน้าฝน ก็หนีไม่พ้นโรคที่มากับน้ำอย่าง โรคน้ำกัดเท้า เคยตั้งคำถาม หรือเคยสงสัยมั้ยว่า ถ้าเราไม่ใช้ยารักษา จะมีวิธีไหนบ้าง วันนี้เราจะมาแนะนำสมุนไพรหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคน้ำกัดเท้า จะมีสมุนไพรชนิดไหนบ้าง เราไปดูกันเลย
1. มะกรูด
สามารถใช้ผิวมะกรูดมีฤทธิ์กำจัดเชื้อราบนผิวหนัง แถมยังช่วยกำจัดแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนังของเราได้ โดยการนำผิวมะกรูดมาคั้นเป็นน้ำ ผสมกับน้ำมะกรูดคั้นสดๆ นำมาทาบริเวณแผลน้ำกัดเท้า เพื่อบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้
2. กระเทียม
ในกระเทียมมีสารตัวหนึ่งชื่อว่า Allicin มีสรรพคุณในการรักษาเชื้อราได้ดีมาก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสบร้อนจากสารในกระเทียม
3. ข่า
ข่าหนึ่งในสมุนไพรใกล้ตัวสามารถกำจัดเชื้อราบนผิวหนังได้ โดยเฉพาะกลาก เกลื้อน แนะนำให้นำข่ามาปอกเปลือกฝานเป็นแว่นหรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาว 1 คืน แล้วทาจนกว่าอาการทุเลาลง
4. ขมิ้นชัน
รู้สึกคันทีไร ใช้ขมิ้นชันทุกที เพราะมีสรรพคุณแก้คันได้ และยับยั้งเชื้อโรค และเชื้อราได้อย่างชัดเจน โดยการนำแง่งขมิ้นชันมาฝนกับน้ำ หรือจะนำมาตำกับน้ำแล้วมาชโลมบริเวณแผลน้ำกัดเท้าให้ทั่ว
5. ใบพลู
ใบพลูสารพัดประโยชน์ และยังสามารถรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ โดยการนำใบพลูมาล้างให้สะอาด แล้วตำใบพลูผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ อีกทั้งในใบพลูมีน้ำมันหอมระเหยชื่อว่า Betel oil ซึ่งมีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังได้เป็นอย่างดี
6. ส้มเกลี้ยง
สกัดน้ำมันจากเปลือกส้มเกลี้ยง แล้วนำมาทาผิวหนังที่เกิดเชื้อรา วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 1-3 สัปดาห์
7. เปลือกมังคุดแห้ง
นำเปลือกมังคุดแห้งมาฝนกับน้ำเปล่า หรือน้ำปูนใส ฝนจนรู้สึกข้น แล้วนำมาทาบริเวณแผลน้ำกัดเท้า โดยให้ทาวันละ 2-3 ครั้ง
8. ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร อีกหนึ่งสมุนไพรที่มากด้วยสรรพคุณ หากมีแคปซูลฟ้าทะลายโจรติดบ้านไว้ ให้ใช้ผงในแคปซูลละลายน้ำ และแปะๆ บริเวณแผลน้ำกัดเท้าทุกวันจนกว่าแผลจะหายดี
9. ใบทองพันชั่ง
ในใบทองพันชั่งมีสารตัวหนึ่งชื่อว่า Diospyrol มีคุณสมบัติรักษาเชื้อรา กลาก เกลื้อน และต้านผิวหนังอักเสบ นำใบทองพันชั่งประมาณ 1 กำ ตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกวันละ 3-4 ครั้งอย่างสม่ำเสมอจนกว่าแผลจะหาย
10. มะเกลือ
คุณสมบัติในการรักษาเหมือนใบทองพันชั่ง เนื่องจากมีสาร Diospyrol ชนิดเดียวกัน ส่วนวิธีการใช้ฝานให้ได้น้ำยางจากผลสด แล้วนำยางที่ได้ทาบริเวณแผลน้ำกัดเท้า วันละ 1 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น
สมุนไพรไทยสามารถรักษาโรคน้ำกัดเท้าก็จริง แต่เราควรป้องกันไม่ให้เป็นดีที่สุด เพียงรักษาสุขอนามัย ให้สะอาดทุกครั้งหลังจากเดินลุยน้ำท่วมขังทุกครั้ง